วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

คุณลักษณะครูรุ่นใหม่กับการปฏิรูปหลักสูตรผลิตครูในศตวรรษ 21

คุณลักษณะครูรุ่นใหม่กับการปฏิรูปหลักสูตรผลิตครูในศตวรรษ 21

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

บทนำ

                        โลกเรากำลังเผชิญกับวิกฤตที่สำคัญและยิ่งใหญ่  วิกฤตนี้เป็นการท้าทายเราเหล่าสัตว์โลกทีเป็นเวไนยสัตว์  เราพบว่าความเจริญทางวัตถุก็ดี  ความสามารถที่เราเอาชนะธรรมชาติได้ก็ดี  การรู้และค้นพบสิ่งต่าง ๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนก็ดี  ความมั่งคั่งของประเทศตลอดจนความก้าวหน้าทางวิชาการ  การสื่อสารคมนาคมที่ย่อโลกอันกว้างใหญ่ให้เป็นจุดเดียวกันเชื่อมต่อกันได้อย่างสะดวกรวดเร็วก็ดีไม่ได้ช่วยให้เรามีความสามารถเพิ่มขึ้นในการแก้ไขปัญหาเรื้อรังหลายด้านของสังคม  ทั้งในระดับชุมชน  ชาติ  และนานาชาติ  เราเชื่อว่าการศึกษามีหรือควรมีบทบาทและภารกิจสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์เพื่อแก้ไขปัญหานี้  ขณะนี้สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบถึงคนไทยทุกคน  ทำอย่างไรคนไทยจึงจะสามารถผนึกกำลัง  ร่วมแรงร่วมใจกันกู้สถานการณ์ของประเทศให้พลิกฟื้นกลับคืนสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว  สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่อุบัติเหตุ  แต่เป็นเหตุที่หลายคนไม่ตระหนัก  เพิกเฉยและรู้เท่าไม่ถึงการณ์  บทเรียนครั้งนี้ คุ้มค่าสำหรับคนไทยที่จะได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุและรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงซึ่งก็คือคนไทยโดยรวมยังขาดความรู้ภูมิปัญญาที่จะนำพาประเทศให้คงอยู่ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นโลกที่ไร้พรมแดน  ทั้งด้านความรู้  เศรษฐกิจ  เทคโนโลยีสารสนเทศ  เชื้อชาติ  ศาสนา  วัฒนธรรม  ฯลฯ  การจะเกิดซึ่ง ความรู้ภูมิปัญญา  ได้นั้นทุกคนในขาติจักต้องได้รับการศึกษาที่ดี  มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ  เฟืองจักรสำคัญที่จะนำพาสู่การศึกษาที่ดีมีคุณภาพก็คือ  ครูรุ่ง  แก้วแดง (2543)  กล่าวไว้สอดคล้องกับเอกสารรายงานเกี่ยวกับครูของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2542)  ความว่า ความเป็นครูในสังคมไทยปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหารุมเร้ารอบด้าน  แต่ปัญหาใดก็ไม่เท่ากับวิกฤติศรัทธาในวิชาชีพครู        ประกอบกับการปฏิรูปการศึกษาเป็นกระแสใหม่ทั่วโลก  เพราะในยุคที่โลกกำลังก้าวหน้าเข้าสู่ศตวรรษที่  21  สภาพของโลกนี้เปลี่ยนไปเป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี  เป็นสังคมโลกที่สลับซับซ้อนเชื่อมโยงและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  สังคมโลกกลายเป็นสังคมความรู้ (Knowledge Society)หรือสังคมแห่งการเรียนรู้(Learning Society)  ครูบุคลากรทางการศึกษาและองค์การทางการศึกษา  จึงต้องปรับตัวให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization)   ถึงเวลาแล้วที่ประเทศจะต้องมุ่งไปเพื่อการศึกษาของปวงชน (Education for All)  และขณะเดียวกันทุกภาคส่วนของสังคมต้องทุ่มเทให้กับการศึกษา (All for Education)  การศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้ชีวิตและการกล่อมเกลาของคน  โดยคนและเพื่อคน  คนจึงเป็นส่วนสำคัญที่สุด เป็นศูนย์กลางของกระบวนการเรียนรู้ทั้งปวงประกอบกับนานาทัศนะมีความเห็นสอดคล้องกันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า  เศรษฐกิจและสังคมจะดีเพียงใด  แข่งขันในตลาดโลกได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน  คุณภาพแรงงานและคุณภาพของผู้นำในวงการต่าง ๆ  และยังยอมรับกันอย่างแท้จริงว่าคุณภาพคนขึ้นอยู่กับ คุณภาพการศึกษา  และคุณภาพการศึกษาขึ้นอยู่กับคุณภาพครูเป็นหลัก    (สุมน อมรวิวัฒน์ , 2533 ; Jacques Delors,1996   อ้างถึงในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  2540; สิปปนนท์  เกตุทัต, 2539 ; UNESCO, 1999 อ้างถึงในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2543)  แต่น่าเป็นห่วงว่าในขณะนี้วิชาชีพครูทั่วโลกตกต่ำ  ระบบการจัดการครูไม่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่เก่งและดีมาเป็นครู  นิสิต  นักศึกษาครุศาสตร์  ศึกษาศาสตร์  และประกาศนียบัตรวิชาชีพครูในสถาบันกว่า  125,000  คน และกว่าร้อยละ  35  เลือกเรียนสาขาครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์เป็นอันดับสุดท้าย  (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2540 ; กองส่งเสริม
วิทยฐานะครู สำนักงานสภาสถาบันราชภัฎ, 2539 ; สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู , 2544 ; วิทยากร   เชียงกูร, 2542 ; วิจิตร    ศรีสะอ้าน, 2540)  ครูส่วนใหญ่ขาดความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาทักษะและวิทยาการให้ทันสมัย  คุณภาพครูไทยประจำการในสถานศึกษาทั้งหมดกว่า 600,000  คนได้รับการตั้งคำถามว่าดีจริงหรือ เป็นครูระดับ มืออาชีพได้หรือไม่  มีจำนวนกี่มากน้อย  ยิ่งถ้าต้องการปฏิรูปกระบวนการการเรียนรู้และจัดโครงสร้างเงินเดือนครูระบบใหม่ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 (มาตรา 55)  ยิ่งมีคำถามเกี่ยวกับคุณภาพครูมากขึ้น  สภาพการณ์เหล่านี้มีความเข้มข้นและมีประเด็นสงสัยน่าศึกษาอย่างยิ่งว่า  เกิดอะไรขึ้นกับสภาพการณ์ของครู จะแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาได้อย่างไร  ดังนั้นจึงต้องมีระบบหรือวิธีการที่จะทำให้สังคมไทยมีความมั่นใจว่าครูไทยทุกคนไม่ว่าจะทำหน้าที่ในสายงานในระบบและนอกระบบจะต้องมีคุณภาพเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้การศึกษาไทยและอนาคตคนไทยมีโอกาสดีขึ้น  สิ่งหนึ่งในความพยายามที่จะยกระดับคุณภาพครูก็คือกระบวนการกำหนดคุณลักษณะครูรุ่นใหม่และกระบวนการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพครูรุ่นใหม่  การประเมินมาตรฐานวิชาชีพครูด้วยเกณฑ์คุณลักษณะครูที่มีมาตรฐาน  มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และค่าตอบแทนที่สัมพันธ์กับคุณภาพครู  นี่คือกลไกอันเป็นหลักประกันคุณภาพครูรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพ  (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2543 ; ศรีน้อย   โพวาทองและคณะ, 2542 ; สมหวัง   พิธิยานุวัฒน์, 2543 ; สุรศักดิ์   หลาบมาลา, 2543 ; อมรวิชช์   นาครทรรพ, 2540 ; สิริพร   บุญญานันต์, 2538 ; อรรณพ   พงษ์วาทและจิตรกร   ตั้งเกษมสุข, 2539)

ทำไมต้องผลิตครูรุ่นใหม่

                        จากการศึกษาสภาพการณ์ ( Contextual Study )  ความต้องการจำเป็นต่อการผลิตครูรุ่นใหม่เพื่อการพัฒนาครูสู่ความเป็นครูมืออาชีพได้ข้อค้นพบว่า
1.       สังคมส่วนรวมมีความเชื่อว่า  การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคน
ให้สามารถนำการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  และวัฒนธรรม  ให้เหมาะสม  สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกประเทศ  ผลผลิตของระบบการศึกษาคือพลเมืองของประเทศที่สามารถปรับตัวและสามารถแก้ปัญหาที่มีความหลากหลายในสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และสามารถริเริ่มพัฒนาตนเอง  ครอบครัว  ชุมชน  ตลอดจนประเทศให้พัฒนาและก้าวหน้าไปได้อย่างมีหลักการบนพื้นฐานของความเข้าใจเหตุและผล  ความถูกต้อง  ความดีงาม  และความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
                        2.  สังคมส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่า การศึกษาที่พึงประสงค์ในสังคมปัจจุบันจะต้องเป็นการศึกษาที่มุ่งพัฒนาคนให้สมดุลทั้งด้านร่างกาย  สติปัญญา  จิตใจและสังคม  ทั้งในระดับความคิด  ค่านิยมและพฤติกรรม  ซึ่งต้องจัดให้สอดคล้องกับความต้องการของบุคคล  ชุมชน  สังคม  และประเทศชาติ  โดยปรับแนวคิดในการพัฒนาการศึกษาให้เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนรู้จักเรียนรู้และแสวงหาความรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต  โดยจัดการศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา  จัดในรูปแบบที่หลากหลาย  เพื่อสนองความต้องการ  ความสามารถและความถนัดของผู้เรียน
                        3.  คนส่วนมากมีความเชื่อว่า  การจัดการศึกษาในลักษณะที่ต้องการจำเป็นจะต้องใช้ครูที่มีลักษณะเฉพาะ  มีความสามารถสูง  (เป็นครูรุ่นใหม่ระดับครูมืออาชีพ) และได้รับการฝึกอบรมด้วยหลักสูตรและวิธีการสอนที่มีความเข้มข้นและมีคุณภาพมาอย่างดี  สามารถทำหน้าที่ครูได้อย่างมีประสิทธิภาพมีศักดิ์ศรีและมีเกียรติ ในอดีตสังคมไทยเคยยกย่องครูโดยเปรียบเทียบเป็นปูชนียบุคคลที่รอบรู้  รู้จริง  รู้แจ้ง  ทั้งนี้เพราะครูในอดีตส่วนใหญ่คือ พระอาลักษณ์  นักปราชญ์และผู้รู้ในหมู่บ้าน  ซึ่งเป็นที่ยอมรับในฐานะที่เป็น คนดี  คนเก่ง  ในวิชาความรู้แขนงต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันความรู้สึกผูกพันต่อครูดังกล่าวได้เสื่อมถอยลง  อันเนื่องมาจากครูต้องปรับพฤติกรรมตามสภาพทางเศรษฐกิจ  สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  ความเชี่ยวชาญทางวิชาการและความเอาใจใส่ต่อเด็กลดถอยลง 
                        4.  จากสาระการปฏิรูปและกระแสสังคม เศรษฐกิจบ่งชี้วิสัยทัศน์ พบว่าในโลกยุคใหม่ในสังคมแห่งการเรียนรู้ ( Learning Society )  ครูจะต้องมีบทบาทหน้าที่ซับซ้อนขึ้น ครูจะต้องมีความรู้  ประสบการณ์และก้าวทันสถานการณ์โลก จะต้องเป็นผู้มองกว้าง  คิดไกล  ใฝ่รู้  ครูจะต้องจัดระบบการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา คือ ต้องสอนโดยยึดพื้นฐานความรู้  ความสามารถ  ความสนใจและความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก  ครูในอนาคตจึงต้องมีมาตรฐานคุณภาพในระดับครูมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับจากสังคมในระดับสูง ดังนั้น ครูจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับสังคมยุคใหม่  ที่จะปรับเปลี่ยนไปทั้งในปัจจุบันและในอนาคตโดยเชื่อว่าครูในปัจจุบันและอนาคตจะต้องมีคุณลักษณะโดดเด่น  ดี  เก่ง  ทันโลกและเป็นครูมืออาชีพ
                        5.  จากการวิเคราะห์ พบว่า  ในปัจจุบันวิกฤติในวงการครูทั้งในประเทศและต่างประเทศปัญหาหลักๆ จะคล้ายคลึงกัน ได้แก่ การที่คนดีคนเก่งไม่สนใจเข้าเรียนครูเป็นลำดับต้น ๆ เมื่อเรียนสำเร็จแล้วส่วนหนึ่งจะไม่ประกอบอาชีพครู  ทำให้ไม่สามารถบำรุงรักษาครูดีๆ ไว้ได้  ทั้งนี้เหตุผลหนึ่งเนื่องมาจากค่าตอบแทนของครูต่ำมากเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ความตั้งใจและทุ่มเทต่อการเรียนการสอนของครูก็ลดต่ำลงประกอบกับการเรียนการสอนในสถาบันฝึกหัดครูมุ่งสอนเนื้อหามากกว่าให้คิดวิเคราะห์และปฏิบัติ  การสอนไม่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  ดังนั้นครูในปัจจุบันส่วนใหญ่จึงขาดความเชี่ยวชาญในการสอนทั้งทางวิชาการและคุณลักษณะความเป็นครู  ความเอาใจใส่ต่อเด็กลดลง ความนิยมยกย่องของสังคมต่อครูจึงลดลงทำให้วิชาชีพครูตกต่ำลง  รวมทั้งในต่างประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติครูดังกล่าวข้างต้นต่างก็พยายามแสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหาของครู เช่นเดียวกันซึ่งประสบความสำเร็จมาในระดับหนึ่งซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างให้เป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทย  ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของครู  โครงสร้างการบริหารจัดการเกี่ยวกับครูและระบบโรงเรียน  ศักดิ์ศรีการยอมรับในวิชาชีพครูที่ถือว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่ยั่งยืน  ประโยชน์เกื้อกูลและการส่งเสริมพัฒนาบทบาทวิชาชีพครูทั้งตนเอง  ระบบการศึกษาและการบริหารจัดการโดยรวมที่สอดคล้องสัมพันธ์กับโครงสร้างด้านอื่นเช่นเศรษฐกิจ  สังคม การดำรงชีพ วัฒนธรรม  วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  และจิตวิทยา
6.       ในมุมมองในประเทศไทยกับสภาพการณ์ที่ปรากฏ (Situation Study) สามารถ
มองเห็นกระแสความเปลี่ยนแปลงและมีประเด็นสำคัญที่เป็นเหตุผลและความเกี่ยวข้องกับความจำเป็นในการพัฒนาครูรุ่นใหม่การพัฒนาครูรุ่นใหม่และวิชาชีพครู สรุปได้ คือ
            1.  ประเด็นความล้มเหลวด้านคุณภาพของผู้เรียน  ซึ่งปรากฎข้อมูลเชิงประจักษ์ในการแข่งขันทางวิชาการในระดับนานาชาติหรือในระดับเอเชียและการจัดคุณภาพการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล  ระดับนานาชาติของสถาบัน IMD ซึ่งพบว่าคุณภาพของประเทศไทยอยู่อันดับท้าย ๆ
            2.  ประเด็นความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ได้ก่อให้เกิดแนวทางและมาตรการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษาและปฏิรูปโรงเรียน
            3.  ประเด็นการใช้กฎหมายให้เป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการด้านการศึกษา นอกเหนือจากแผนการศึกษาแห่งชาติ  ซึ่งพบว่า  กฎหมายหลักและกฎหมายประกอบทางการศึกษาทำให้เกิดผลบังคับและคิดค้นแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกี่ยวกับครู  และหลักสูตรพัฒนาครู  เช่น  การเน้นคุณภาพผลผลิต  โครงสร้างการบริหารองค์การครู  การบริหารงานบุคคล  การจัดองค์กรวิชาชีพ  การออกใบประกอบวิชาชีพตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู  จรรยาบรรณวิชาชีพครู  การอนุมัติหลักสูตร  คุณวุฒิ  วิทยฐานะ  ค่าตอบแทนวิชาชีพครูและการยกฐานะวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง
            4.  ประเด็นการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  ก่อให้เกิดกระแสการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้  การปรับปรุงบทบาทและการปรับพฤติกรรมการสอนของครู  ให้เป็นครูยุคใหม่ที่มีทั้งศาสตร์ (Science)  คือความลุ่มลึกจัดเจนในเนื้อหา ( Subject Matters)  มีศิลปการสอน (Methodology)  คือมีเทคนิควิธีการถ่ายทอดการจัดกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างมีความสุขและตระหนักผลที่เกิดกับผู้เรียนเป็นสำคัญ
            5.  ประเด็นจุดเน้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่  8 (..2540 – 2544)  และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่  9 (..2545 – 2549) ได้วิเคราะห์ให้เห็นจุดด้อยในคุณภาพและความสามารถของคนไทยจึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาที่เน้นการพัฒนาศักยภาพของคนเป็นสำคัญ มีแผนพัฒนาครูอย่างต่อเนื่องชัดเจนโดยเน้นคุณภาพครูและวิธีการสร้างครูรุ่นใหม่ และสอดคล้องสัมพันธ์ระหว่างการบริหารครู  การใช้ครูและการพัฒนาครู
            6.  ประเด็นที่ชี้ให้เห็นความสำคัญต่อการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ  และการมีผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes)  ที่มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับและเน้นการวิจัยชั้นเรียน  กระบวนการเหล่านี้เป็นกระแสสำคัญต่อการปฏิรูปบทบาทของครูให้เป็นผู้นำทางวิชาการที่ใช้พันธกิจและทิศทางเพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้ปรากฏและนำไปสู่การเป็นนักแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและปรับปรุงกำหนดตำแหน่งเป็น  ครูมืออาชีพ  เป็นครูต้นแบบ  เป็นครูผู้เชี่ยวชาญ  เป็นครูนักวิจัย  เป็นครูผู้นำทางวิชาการ  เป็นครูนักเปลี่ยนแปลง  โดยใช้ผลงานศึกษาวิจัยเป็นเครื่องชี้วัดและประเมินผลคุณภาพการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง
            7.  ประเด็นการประกันคุณภาพการศึกษา  ได้ก่อให้เกิดกิจกรรมการประเมินคุณภาพการควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา  การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานด้านปัจจัยด้านกระบวนการและผลผลิตทางการศึกษาเพื่อนำไปสู่การประกันคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานทั้งนี้โดยมีการประเมินคุณภาพภายในและภายนอกและนำไปสู่การพัฒนาสถานะภาพผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษาตามมาตรฐานสากล
            8.  ประเด็นกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization Currently)  ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านวิสัยทัศน์  สังคม  สิ่งแวดล้อม  เศรษฐกิจ  การเมือง  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการสื่อสาร  ทั้งทางบวกและทางลบ  แนวคิด  ค่านิยม  ความเชื่อได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการดำรงชีวิต  การเรียนรู้ สังคมความรู้ สังคมปราชญ์และผลกระทบในการพัฒนาครู  การพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการและวิชาชีพครูอย่างสำคัญ (โณทัย   อุดมบุญญานุภาพ, 2543)

คุณลักษณะครูรุ่นใหม่ควรมีลักษณะอย่างไร

                        ตัวบ่งชี้คุณลักษณะครูตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาด้านปัจจัยเพื่อประเมินภายนอก 4 มาตรฐาน  12  ตัวบ่งชี้ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ดังนี้
1.       มาตรฐานด้านมีวิญญาณความเป็นครู  มีคุณธรรมจริยธรรม  ประกอบด้วย
ตัวบ่งชี้  1  ครูมีความเอื้ออาทร  เข้าใจและเอาใจใส่ผู้เรียนทุกคนอย่างสม่ำเสมอและเท่าเทียมกัน
            ตัวบ่งชี้  2  ครูมีมนุษยสัมพันธ์  ควบคุมอารมณ์ได้และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
            ตัวบ่งชี้  3  ครูมีความรับผิดชอบ  ซื่อสัตย์  ตรงต่อเวลา  อุทิศตนให้กับการพัฒนาผู้เรียน
            ตัวบ่งชี้  4  ครูวางตนเหมาะสม  เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความประพฤติและบุคลิกภาพ
            ตัวบ่งชี้  5  ครูมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพครู
            2.  มาตรฐานด้านความสามารถในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ประกอบด้วย
            ตัวบ่งชี้  1  ครูรู้เป้าหมายของหลักสูตรและเป้าหมายการจัดการศึกษา
            ตัวบ่งชี้  2  ครูมีความรู้ความสามารถในการประเมินผลการเรียนการสอน  จัดทำแผนและกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
            ตัวบ่งชี้  3  ครูมีความรู้ความสามรถในการเรียนการสอนและการนำผลการประเมินมาใช้พัฒนาคุณภาพ
            3.  มาตรฐานด้านความสามารถในการแสวงหาความรู้  คิดวิเคราะห์และสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนประกอบด้วย
            ตัวบ่งชี้  1  ครูมีนิสัยรักการแสวงหาความรู้และข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาการเรียนสอน
            ตัวบ่งชี้  2  ครูมีความสามารถในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนการสอน
            ตัวบ่งชี้  3  ครูมีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาและแก้ไขสถานการณ์ได้
4.       มาตรฐานด้านคุณวุฒิ  ความรู้  ความสามารถตรงกับงานที่รับผิดชอบ
ตัวบ่งชี้  1  ครูมีคุณวุฒิ  มีความถนัด  มีความเชี่ยวชาญตรงกับงานที่ปฏิบัติการสอน
(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2543)
หลักและมาตรฐานคุณลักษณะตามเกณฑ์การประเมินครูใหม่  10  ประการเพื่อการออกใบประกอบวิชาชีพครู  มาตรฐานนี้เทียบเท่าวุฒิบัตรชั้นสูงของสภาแห่งชาติด้านมาตรฐานวิชาชีพการสอน (NBPTS)  ได้แก่
หลักประการที่  1  ครูต้องเข้าใจความคิดหลัก  เครื่องมือที่จะใช้หาความรู้และโครงสร้างของหลักการที่ใช้สอน  และสามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทำให้ลักษณะต่าง ๆ นี้มีความหมายแก่นักเรียน
หลักประการที่  2  ครูต้องเข้าใจว่าเด็กเรียนรู้อย่างไรและพัฒนาอย่างไรและสามารถตระเตรียมโอกาสแห่งการเรียนรู้ที่สนับสนุนการพัฒนาทางสติปัญญาและสังคมส่วนบุคคล
หลักประการที่  3  ครูต้องเข้าใจว่านักเรียนแตกต่างกันอย่างไรในการมีแนวทางเรียนรู้และครูต้องสร้างโอกาสทางการสอนที่มีการปรับให้เข้ากับนักเรียนที่มีความหลากหลาย
หลักประการที่  4  ครูต้องเข้าใจและใช้ยุทธศาสตร์การสอนต่าง ๆ ที่จะช่วยเร่งเร้าการพัฒนาของนักเรียนให้มีความคิด  รู้จักวิพากษ์วิจารณ์  แก้ปัญหาและแสดงทักษะได้
หลักประการที่  5  ครูต้องใช้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบันดาลใจและพฤติกรรมของกลุ่มและส่วนบุคคลที่จะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เร่งเร้าการพบปะสังสรรค์ทางสังคม  การเข้าไปเกี่ยวข้องในการเรียนรู้และการสร้างพลังใจของตนเอง
หลักประการที่  6  ครูต้องใช้ความรู้ที่มีประสิทธิภาพในหลักการนิเทศด้านการใช้คำพูด การไม่ใช้ถ้อยคำและสื่อที่จะให้มีการเรียนรู้อย่างจริงจัง  มีการร่วมมือ  การพบปะสังสรรค์ในชั้นเรียน
หลักประการที่  7  ครูต้องวางแผนการสอนโดยมีพื้นฐานทางความรู้ในเรื่องราวที่สอนประชาคม  และเป้าหมายในหลักสูตร
หลักประการที่  8  ครูต้องเข้าใจและใช้ยุทธศาสตร์การประเมินอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการในการวัดผลและให้มั่นใจว่านักเรียนได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทางปัญญา ทางสังคมและทางกายภาพ
หลักประการที่  9  ครูต้องเป็นนักปฏิบัติที่มีการทบทวนตนเอง  โดยวัดผลอย่างต่อเนื่องในผลของทางเลือกและการปฏิบัติต่อคนอื่นๆ (นักเรียน  ผู้ปกครองและผู้มีวิชาชีพในประชาคมแห่งการเรียนรู้) และเป็นผู้เสาะแสวงหาโอกาสที่จะมีการเติบโตในทางวิชาชีพ
หลักประการที่ 10  ครูต้องสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในโรงเรียน  ผู้ปกครอง  และองค์กรในประชาคมที่กว้างขวางมากขึ้น  เพื่อช่วยสนับสนุนการเรียนรู้และความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน  (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2540)
คุณสมบัติ  6  ประการตามมาตรฐานครูแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (Advanced Skills Teacher)
1.  ครูมีผลงานเป็นเลิศ  โดยมีผลการสอนที่ปรากฏที่ตัวนักเรียนโดยนักเรียนแสดงผลการเรียนและพฤติกรรมอย่างสูง  อย่างสม่ำเสมอ  มีหลักฐานแสดงผลร่วมกับผู้ปกครองและผู้ปกครองมีความพอใจ
2.  ครูมีความเป็นเลิศในวิชาที่สอนหรือความรู้ในสาขาวิชาพิเศษ  โดยมีความรู้ในวิชาที่ตนสอนอย่างเชี่ยวชาญ  ลึกซึ้ง  กว้างขวาง  ทันตามความก้าวหน้าของวิชาการ  ครูมีความเข้าใจการใช้ข้อมูลระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสารในการสอนวิชาของตนอย่างเชี่ยวชาญ
3.  ครูมีความสามารถในการวางแผนอย่างดี  โดยเตรียมบทเรียน  และลำดับการสอนอย่างมีวัตถุประสงค์ที่ชัดแจ้ง  มุ่งให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างประสบผลสำเร็จ  มีความคาดหวังสูงให้กับนักเรียน  และครูสามารถวางแผนการสอนโดยใช้ประโยชน์จากผลการเรียนของนักเรียนทั้งในอดีตและปัจจุบัน
           4. ครูมีความสามารถเป็นเลิศในการสอน  การจัดการานักเรียนและการรักษาวินัยในห้องเรียนอย่าง สร้างสรรค์  ท้าทายและมีความสุขโดยครูมีความสามารถใช้วิธีสอนที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถท้าทายให้กลุ่มนักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความคิดสร้างสรรค์  กระตือรือร้น  สามารถใช้คำถามและอธิบายยกตัวอย่าง สาธิต  อย่างชำนาญการเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าสูงสุด  มีความสามารถในการช่วยเหลือนักเรียนที่มีความยุ่งยากในการเรียนและความประพฤติ  ครูสามารถรักษาความเคารพนับถือและรักษาวินัยในห้องเรียนได้อย่างยุติธรรม
            5. ครูมีความเป็นเลิศในการประเมิน  โดยใช้วิธีการประเมินผลเป็นส่วนหนึ่งของการสอนและปรับปรุงการสอนจากผลการประเมิน  ให้สัมพันธ์กับความก้าวหน้าของนักเรียนและเป้าหมาย
            6. ครูมีความเป็นเลิศในการให้คำแนะนำและสนับสนุนเพื่อนครู  โดยสามารถให้ข้อมูลย้อนกลับไปให้การสนับสนุน  คำแนะนำอย่างดีแก่เพื่อนครู  สามารถทำตัวเป็นแบบอย่างในการสอน  สาธิต  ฝึกอบรม  ให้ความร่วมมือ  ทั้งในโรงเรียนของตนและสถานการณ์อื่นอย่างมีคุณค่า  รู้วิธีการวางแผนและจัดลำดับความสำคัญของเวลาและกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมงาน (สรุศักดิ์   หลายมาลา, 2543 ; สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2543 ; Advance Skills Teachers (cited 2000  Oct , 10) Avaible from URL: http://www.dfee.gov.uk/ast/index.htm)
            คุณลักษณะครูรุ่นใหม่ที่สำคัญและเป็นจุดเด่นในศตวรรษที่ 21 ควรมีคุณลักษณะดังนี้
            1.  มีความสนใจเสาะแสวงหาความรู้  กระตือรือร้นที่อยากเรียนรู้และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
            2.  มีความรอบรู้ด้านปรัชญาการศึกษา  นโยบายทางการศึกษา  กฎหมายการศึกษา  มาตรฐานวิชาชีพครู  มาตรฐานการศึกษา  จิตวิทยาการศึกษาและหลักสูตรการสอนทั่วไป
            3.  มีความรอบรู้ความสามารถที่ทันสมัย  ทันเหตุการณ์และทันต่อการเปลี่ยนแปลง  โดยสามารถเชื่อมโยงสภาพท้องถิ่นเข้ากับมาตรฐานสากลในลักษณะสหวิทยาการ
4.       มีความรู้ความสามารถในวิธีการแสวงหาความรู้
5.       รู้จักและเข้าใจพัฒนาการของผู้เรียน
           6.   มีความรู้และทักษะในวิชาชีพที่สอนอย่างลุ่มลึก  ชัดเจน  สามารถสอนแล้วผู้เรียนเข้าใจมีความสามารถเรียนรู้ได้และสนุกกับการ  เรียนรู้  สอนและจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเต็ม  ความสามารถ  เต็มเวลา  และเต็มหลักสูตร
            7.  มีความสามารถในการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่กระตุ้นความสนใจใฝ่รู้และมีความสุข  สนุกในการเรียนการสอนมีความสามารถในการสังเกตและรู้จักแก้ไขพฤติกรรม  การเสริมแรงและการลงโทษที่เหมาะสม
            8.  มีทักษะในการสอนอย่างเชี่ยวชาญและสร้างสรรค์การเรียนรู้จนสามารถพัฒนาผู้เรียนได้เต็มศักยภาพตามความแตกต่างระหว่างบุคคล  โดยปลุกเร้าให้ผู้เรียนแสดงความสามารถอย่างเต็มที่  เน้นการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสนองผู้เรียนเป็นสำคัญ
9.       มีความรู้และความเข้าใจในเป้าหมายและวิธีการของหลักสูตรและการสอน
10.   มีความสามารถในการออกแบบ  วางแผนการสอนการบริหารจัดการชั้นเรียน  วิจัย
และพัฒนาการสอน  มีความเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการที่มีประสิทธิภาพและมีความสามารถวัดผลประเมินผลพัฒนาการของการเรียนรู้ได้หลายวิธีได้อย่างเหมาะสม  สม่ำเสมอ
11.   มีความรัก  ศรัทธาที่จะเป็นครู  มีความเมตตากรุณาและเป็นกัลยาณมิตรของศิษย์
            12. มีจริยธรรม  มีกริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย วางตนอยู่ในศีลธรรมอันดีเปี่ยมด้วยคุณธรรมฝึกหัดปฏิบัติตนยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพครูโดยชี้แนะทางถูกต้องแก้ไขสิ่งผิดและยึดมั่นตามหลักศาสนา
            13.  มีบุคลิกภาพดีเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็กและสาธารณชน  ในด้านคุณธรรม  จริยธรรม  ค่านิยม  และการดำรงชีวิต
            14.  มีความรับผิดชอบในหน้าที่มุ่งมั่นในการทำงานทำงานเป็นระบบและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
            15.  มีความสามารถในการปลูกฝังวินัย คุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมที่ดี และถูกต้องต่อผู้เรียน
           16. ความสามารถในการจัดระเบียบเนื้อหาสาระการเรียนรู้  และจัดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ  ให้สอดคล้องกับพัฒนาการผู้เรียนและมีความสามารถพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นได้ตรงความต้องการของท้องถิ่น

หลักสูตรผลิตครูรุ่นใหม่ควรมีลักษณะอย่างไร      

                        คุณลักษณะทั่วไปของนักศึกษาครูในศตวรรษ 21 ในระดับอุดมศึกษาสาขาครุศาสตร์  ศึกษาศาสตร์  ซึ่งอยู่ในวัยกำลังจะเป็นผู้ใหญ่ในระดับปริญญาตรีเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นและมีอุดมการณ์ สนใจในสิ่งที่อยากรู้  ต้องการการยอมรับของเพื่อน  อาจารย์ และสังคม  ต้องการที่จะสามารถนำตนเองได้  เป็นบุคคลที่มุ่งสร้างประสบการณ์และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ( Self Directed Learning)  มักสนใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสิ่งแวดล้อม  การจัดการเรียนการสอนควรมุ่งจัดให้สอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษาสาขาศึกษาศาสตร์และให้สามารถเชื่อมโยงกับประสบการณ์และบริบทของผู้เรียนจะสามารถช่วยให้เรียนรู้ได้ดี (ไพฑูรย์  สินลารัตน์, 2542 ; สุวัฒน์  วัฒนวงศ์, 2538 )
ปฏิณญาสากลว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาศตวรรษที่ 21 ณ กรุงปารีส (5-9.. 2541)  ได้บัญญัติไว้ว่า  การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเห็นผลผลิตคุณภาพของนักศึกษาระดับอุดมศีกษาจะต้องมุ่งพัฒนาด้านสำคัญและให้บรรลุคุณลักษณะของผู้เรียนรู้ดังนี้  คือ
1.  จะต้องมีความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาน  มีความคิดและการติดสินใจด้วยตนเอง
2.  จะมุ่งแสวงหาความรู้ด้วยการศึกษาด้วยตนเอง  การศึกษาที่ต่อเนื่องและการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิตและเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ (Learning Person) มีทักษะชีวิตที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
3.  มีความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง  ประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมีทักษะกระบวนการแก้ไขปัญหา
4.  การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านเครือข่ายได้อย่างชำนาญและมีทักษะการสื่อสารสารสนเทศด้านภาษาและเครือข่าย
5.  การเรียนรู้ร่วมกันเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้  (Learning Society)  (ปฏิณญาสากลปารีส October, 1998 ; Education Goal, 2000)
หลักสูตรผลิตครูรุ่นใหม่มีลักษณะสำคัญและจะเน้นให้เหมาะในศตวรรษที่ 21 คือ
            1.  มีระยะเวลาการเรียนที่ยาวนานยิ่งขึ้น  โดยฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู  ประยุกต์ความรู้เพื่อสอน  วิจัยและพัฒนา เสนอผลงานต่อสถาบันและสาธารณชนในรอบ 1 ปี
2.       ใช้คุณลักษณะของครูรุ่นใหม่  กำหนดเป็นจุดมุ่งหมายของหลักสูตรโดยตรง
3.       องค์ประกอบของกลุ่มวิชาในหลักสูตรและจำนวนหน่วยกิตไม่น้อยกว่า 170 หน่วยกิต
จัดเป็น 4 กลุ่มวิชา  คือ
3.1  กลุ่มวิชาการศึกษาทั่วไป        จำนวน  30 – 35  หน่วยกิต
3.2  กลุ่มวิชาชีพครู                     จำนวน  45 – 55  หน่วยกิต
           3.3  กลุ่มวิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และการประยุกต์ จำนวน  25 – 30 หน่วยกิต
3.4 กลุ่มวิชาเลือกเฉพาะด้านหรือวิชาเอก จำนวน 60 – 70 หน่วยกิต
4.       มีเกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้ที่เข้มข้นยิ่งขึ้นคือ  จะต้องได้ระดับผลการเรียนไม่
ต่ำกว่า  C  หรือ  S  ทุกรายวิชา  มีคะแนนสะสมเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า  2.50 และมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ  90  ของเวลาเรียนในแต่ละรายวิชา
            5.  มีเกณฑ์คุณลักษณะการคัดเลือกผู้จะเข้าเรียนตามกรอบหลักสูตร ที่มุ่งเน้นให้คัดเลือกคนดี คนเก่งและมีจิตใจที่ชอบที่จะเป็นครูเข้าเรียน
            6.  มีจุดเน้นในโครงสร้างในวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการและการแก้ไขปัญหาคุณภาพทางวิชาการของครูยุคใหม่คือ
5.1       เน้นวิชาภาษาอังกฤษที่มุ่งให้ครูสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ในระดับสูง
5.2       เน้นวิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา ที่มุ่งให้ครูเป็นนักเทคโนโลยี  เพื่อ
พัฒนาสื่อนวัตกรรมการสอน                    
5.3       เน้นวิชาวิจัยทางการศึกษาที่มุ่งให้ครูเป็นนักวิจัย  สามารถวิจัยและพัฒนาทางการ
เรียนการสอน แก้ปัญหาการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ
5.4       เน้นทักษะกระบวนการคิด การคิดอย่างมีวิจารณญาณ  ความคิดสร้างสรรค์ที่เน้นให้
ครูเป็นนักคิด  นักเปลี่ยนแปลง  ปรับปรุงด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างมีระบบและมีวิจารณญาณ  ซึ่งเป็นแบบอย่างของครูรุ่นใหม่
            6.5  เน้นความรู้อย่างลึกซึ้ง  กระจ่างชัดในเนื้อหาวิชาเอกและวิชาความเป็นครู  ให้แตกฉานระดับครูมืออาชีพ  โดยมีสัดส่วนจำนวนหน่วยกิตการเรียนรู้อย่างสมดุลและสัดส่วนระหว่างวิชาชีพครู  วิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพและวิชาเอก

หลักสูตรผลิตครูรุ่นใหม่ควรมีหลักการสำคัญดังนี้
            1.  เป็นการจัดการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตวิชาชีพครูสาขาต่างๆ  ให้มีมาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพโดยให้มีความรู้  สติปัญญา  มีความสามารถในการสอนและมีคุณธรรมจริยธรรม
2.  เป็นการศึกษาที่มุ่งให้บัณฑิตสามารถบูรณาการ  ประยุกต์พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการสอนในสถานศึกษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ท้องถิ่นและสากล
3.  เป็นการศึกษาที่มุ่งให้บัณฑิตสร้างความเป็นเลิษในวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงอย่างภาคภูมิมั่นคงและน่าเชื่อถือ
4.     เป็นการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเต็มศักยภาพโดยอาศัยสื่อ  นวัตกรรมและแหล่งเรียนรู้ที่กว้างชวาทั้งในท้องถิ่น ในประเทศและต่างประเทศ  เน้นการใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ตลอดชีวิตและการเรียนรู้ที่เข้มข้นและหลากหลาย
5.         เป็นหลักสูตรที่มีความสมดุลทั้งเนื้อหาสาระและกิจกรรม  พัฒนาคุณลักษณะผู้เรียนในลักษณะหลักสูตรบูรณาการสัมพันธ์วิชา  (Correlation  and  Integrated  Curriculum)
จากสาระสำคัญแห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พุทธศักราช  2542  ได้บัญญัติไว้ว่า  ให้กระทรวงศึกษาส่งเสริมให้มีระบบการผลิตและพัฒนาครู  คณาจารย์และบุคลากรการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง  โดยการกำกับและประสานงานให้สถาบันที่ผลิตครูและพัฒนาครูคณาจารย์รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาให้มีความพร้อมและมีความเข้มแข็งในการเตรียมบุคลากรใหม่และพัฒนาบุคลากรประจำการอย่างต่อเนื่อง…”  ดังนั้นภายใต้ความมุ่งหวังที่จะให้การศึกษาเป็นกลไกการพัฒนาคุณภาพคนของประเทศเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ  เสริมสร้างศักยภาพในการพึ่งพาตนเองและการแข่งขัน  รวมทั้งความก้าวหน้าและมั่นคงทางเศรฐกิจในประชาคมโลกบนฐานแห่งความเป็นไทย  ครู  เป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะทำให้การศึกษาเป็นกลไกนำไปสู่คุณภาพคนของประเทศได้  ดังนั้นปัญหาเกี่ยวกับ  ครู  และ  วิชาชีพครู  จำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการปรับปรุง แก้ไขพัฒนาโดยเร่งด่วนเพื่อให้การศึกษาสามารถพัฒนาคุณภาพ  ครู  ได้สมตามเจตนารมย์ที่ตั้งไว้  ความต้องการจำเป็นจึงต้องสมควรที่จะสร้างสรรค์  ครูรุ่นใหม่  ที่ยอมรับและสามารถแสดงพันธกิจและทิศทางของตนเองได้อย่างเต็มที่และสมบทบาท  ด้วยคุณลักษณะครูที่มีมาตรฐานและนั่นคือการสร้างสรรค์คุณลักษณะครูรุ่นใหม่ที่เป็นมืออาชีพและสร้างสรรค์หลักสูตรครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ที่มีเนื้อหาสาระและกระบวนการเรียนรู้และการฝึกหัดที่เข้มข้นมีประสิทธิภาพ  รัฐและองค์กรจะต้องมีระบบการกำหนดคุณลักษณะครูรุ่นใหม่  มีหลักสูตรครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ที่มีคุณภาพโดยมีสาระและวิธีการพัฒนาคุณลักษณะให้ครูรุ่นใหม่ได้ดำรงอยู่ในตำแหน่ง  บทบาทหน้าที่ครู  พร้อมที่จะแข่งขันกับวิชาชีพอื่นและเพื่อให้ได้ครูรุ่นใหม่ระดับมืออาชีพอยู่ในสถาบันและสังคมที่ยิ่งใหญ่กว้างไกลอย่างมีเกียรติและได้รับในปัจจุบันและอนาคต
อนึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การปฏิรูปการศึกษาไม่มีวันสำเร็จถ้าไม่ได้ปฏิรูปครู  เพราะครูเป็นกุญแจสำคัญของการนำไปสู่ความสำเร็จในการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ซึ่งเป็นรูปหัวใจในการปฏิรูปการศึกษา  ดังนั้นจึงได้ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของการผลิตครู  และการพัฒนาครูให้เป็นครูคุณภาพ  และเป็นครูมืออาชีพ เป็นครูที่รักของผ้เรียนและพร้อมที่จะเรียนรู้และส่งเสริมชี้แนะให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มศักยภาพและเป็นผู้รักในการเรียนรู้  เป็นครูที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเพื่อยกมาตรฐานวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง  เป็นครูมุ่งพัฒนา  สามารถประเมินและปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง  พร้อมปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพครูอย่างเคร่งครัด  เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียนและผู้อื่น  มีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  เพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในการแข่งขันและมีความร่วมมือ  มีความเป็นไทยในความเป็นสากล  เป็นคนเก่งเป็นคนดี  และมีความสุขดังนั้น  จากสภาพการณ์  ความคาดหวัง  และความต้องการพัฒนา  จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายภารกิจและทิศทาง  ในการปฏิรูปวิชาชีพครู  โดย
1.    เพิ่มคุณสมบัติและคุณลักษณะของผู้จะเป็นครูและผู้จะได้รับการยกย่องเป็นครูมืออาชีพโดยมีการกำหนดระดับคุณลักษณะครู  (NTQ :  National  Teachers  Qualification)
2.    เร่งจัดระบบ  กลไก  เชื่อมโยง  เกื้อกูลระหว่างระบบการผลิต  การพัฒนา  การบริหารครู  การยกย่องครู  มุ่งพัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง  โดยปรับปรุงหลักสูตรผลิตครูพัฒนาครูและขยายหลักสูตรปริญญาตรี  สาขาการศึกษาศาสตร์  เป็น  5  ปี  เพื่อความเข้มข้นของศาสตร์  ศิลปการสอน  และจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู  นำไปสู่การปรับโครงสร้างของเงินเดือน  ค่าตอบแทนและวิทยฐานะครูรุ่นใหม่
            ครูรุ่นใหม่เป็นบุคลากรวิชาชีพ  ซึ่งทำหน้าที่หลักทั้งทางด้านการเรียนการสอน  และการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ  ในสถานศึกษาของรัฐ  และเอกชน  โดยมีองค์ประกอบคุณลักษณะที่เพียบพร้อมในด้านความรอบรู้ในวิทยาการในฐานะครูและพลเมืองที่มีคุณภาพ  มีความสามารถและทักษะในด้านการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์การเรียนรู้  สมกับเป็นบุคลากรในวิชาชีพชั้นสูง  มีคุณธรรม  จริยธรรม  และบุคลิกภาพสมกับความเป็นครู  และมีความรู้อย่างลึกซึ้ง  กว้างขวางในศาสตร์สาขาที่สอน  (Subject  Matter)  อันนำไปสู่บุคลากรวิชาชีพ  ผู้ซึ่งสมควรได้รับใบประกอบวิชาชีพครู  ตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพที่สภาวิชาชีพครูจะกำหนด  การดำเนินการเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครู  คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงและเป็นที่ยอมรับจากสังคมทั่วไป  เริ่มต้นตั้งแต่การปรับปรุงระบบการผลิตครูเพื่อให้การผลิตครูสอดคล้องกับสภาพความต้องการ  ความจำเป็นทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพโดยการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูรุ่นใหม่ให้เข้มข้นในศาสตร์ที่สอนและหลากหลายในวิธีการสอน.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น