วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ภาวะผู้นำทางการบริหารการศึกษา

กระแสความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  การเมือง  สังคมวัฒนธรรมและเทคโนโลยีที่รุนแรงรวดเร็วในขณะนี้  ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติทั้งสังคมไทยและสังคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   ก่อให้เกิดการปรับตัวของผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตาม  เพื่อนำพากลุ่มหรือองค์กรให้ฝ่าฟันผ่านพ้นกับวิกฤติที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต    มีความสมดุลของการดำเนินชีวิตและนำความสุขมาให้    คำกล่าวของ  William S. Siffin  (อ้างจากประชุม  รอดประเสริฐ.  2552) หากปราศจากองค์การบริหารแล้วสังคม (Society) ก็คงไม่ปรากฏ และหากปราศจากสังคมแล้ว  มนุษย์(Human) ก็คงไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้  จึงวิเคราะห์ได้ว่ามนุษย์ที่รวมกลุ่มกันเป็นสังคม จะอยู่รวมกันอย่างปกติสุขได้ต้องมีการบริหารจัดการและต้องมีผู้นำ  แต่การบริหารจัดการมนุษย์ที่มีความแตกต่างกันทุกด้าน และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความหลากหลายด้านปัจจัยและบริบทในสภาวะปัจจุบันนี้   คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก  เพราะผู้นำจะต้องเผชิญกับความสลับซับซ้อนของปัญหาด้านต่างๆ  อย่างมากมาย ทั้งบุคคล  งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี   ผู้บริหารที่เป็นผู้บริหารรุ่นเก่า คงเกิดความยุ่งยาก  แต่ถ้ามีการศึกษาเรียนรู้ในการเป็นผู้นำมืออาชีพซึ่งจะต้องมีภาวะผู้นำก็อาจะเป็นผู้นำที่ดีได้   ซึ่งผู้เขียนได้เรียบเรียงความรู้เกี่ยวกับภาวะผู้นำทางการบริหารการศึกษาในด้านความหมาย  องค์ประกอบ  ความสำคัญ วิธีการพัฒนาภาวะผู้นำและแนวทางการนำภาวะผู้นำทางการบริหารการศึกษาไปใช้ประโยชน์  โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ที่เตรียมตัวก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาได้มีความพร้อมฝึกฝนตนเองให้มีภาวะผู้นำ  ที่จะสามารถไปบริหารจัดการให้องค์การทางการศึกษาดำเนินงานได้อย่างบรรลุวัตถุประสงค์  ตอบสนองความต้องการของชาติ  นำพาสังคมไทยให้ก้าวย่างไปข้างหน้าได้อย่างทัดเทียมกับอารยประเทศได้ต่อไป

  * ครูชำนาญการพิเศษ  โรงเรียนปักธงชัยประชานิรมิต   นักศึกษาปริญญาเอก  รุ่นที่  4   มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา
ความหมายของภาวะผู้นำทางการบริหารการศึกษา
ภาวะผู้นำ (Leadership) ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลากหลาย ดังนี้
ภาวะผู้นำเป็นกระบวนการของอิทธิพลที่บุคคลหนึ่งพยายามใช้อิทธิพลต่อบุคคลอื่น เพื่อให้มีพฤติกรรมไปในทิศทางที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เศาวนิต  เศาณานนท์ (2542)
ภาวะผู้นำคือ การที่ผู้นำใช้อิทธิพลในความสัมพันธ์ที่มีอยู่ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในสถานการณ์ต่างๆ    เพื่อปฏิบัติการและอำนวยการ   โดยใช้กระบวนการติดต่อซึ่งกันและกันเพื่อบรรลุตามเป้าหมาย กวี  วงศพุฒ (2542) 
ภาวะผู้นำคือ ภาวะที่ก่อให้เกิดศรัทธาเป็นที่ยอมรับและเกิดจุดมุ่งหมายร่วมกันในสังคมนั้น ๆ  ภาวะผู้นำอาจมีในบิดามารดา ครู ผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา ผู้นำทางวิชาการ ผู้นำทางการเมือง เป็นต้น ภาวะผู้นำอาจมีในบุคคลที่มีดำรงตำแหน่งหัวหน้าหรือไม่ใช่ก็ได้ ประเวศ  วะสี (2544)
สรุปได้ว่า ภาวะผู้นำเป็นคุณลักษณะเฉพาะตัวที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอื่นในการที่จะให้ความร่วมมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ผู้นำต้องการ ซึ่งคุณลักษณะความเป็นผู้นำนี้ไม่มีเฉพาะผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าเท่านั้น  แต่บุคคลทุกอาชีพ ทุกสถานภาพก็สามารถมีภาวะผู้นำได้ตามเวลา โอกาส สถานที่  เช่น บิดามีภาวะความเป็นผู้นำในฐานะหัวหน้าครอบครัวที่มีผลต่อผู้ตามคือภรรยาและบุตร  เป็นต้น  การบริหารการศึกษากับภาวะผู้นำมีความสัมพันธ์กันคือ การบริหารการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยภาวะผู้นำเพื่อช่วยให้การบริหารการศึกษาเป็นไปด้วยดี มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
                การบริหารการศึกษาหมายถึง กระบวนการปฏิบัติงานด้านการจัดการทางการศึกษาให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยหลักการและปัจจัยการบริหารเป็นสื่อของความสำเร็จนั้น  มุ่งบริหารคนและบริหารงาน 
ภาวะผู้นำทางการบริหารการศึกษาจึงหมายถึงคุณลักษณะของผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารการศึกษาในการควบคุม นำพาครูหรือบุคลากรทางการศึกษารวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาเช่นผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงาน องค์กร  มาร่วมมือกันในการจัดการศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 
ความสำคัญของภาวะผู้นำทางการบริหารการศึกษา
                ภาวะผู้นำเป็นกระบวนการที่ผู้นำช่วยสร้างความชัดเจนแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาให้รับรู้ว่า อะไรคือความสำคัญให้ภาพความเป็นจริงขององค์กรแก่ผู้อื่นช่วยให้มองเห็นทิศทางและจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจนภายใต้ภาวะความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก (สุเทพ  พงศ์ศรีวัฒน์ 2545) และมีผู้สรุปรวบรวมความหมายและความสำคัญของภาวะผู้นำ  ไว้ดังนี้
1.       ภาวะผู้นำของผู้นำเป็นจุดศูนย์รวมของการทำงานกลุ่ม ในการแสวงหาความร่วมมือของ
บุคคลในกลุ่มเพื่อนำพากลุ่มไปสู่เป้าหมายของความสำเร็จ
2.       ภาวะผู้นำของผู้นำเป็นบุคลิกภาพและผลของบุคลิกภาพที่ส่งผลต่อผู้ตามในการทำงาน
ร่วมกัน   ก่อให้เกิดความพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจต่อบุคลิกภาพของผู้นำ  ซึ่งเป็นผลจากความมีภาวะผู้นำนั่นเอง
3.       ภาวะผู้นำในฐานะที่เป็นการกระทำหรือพฤติกรรม เพราะการกระทำของผู้นำที่เป็นผลจาก
การมีภาวะผู้นำส่งผลต่อปฏิกิริยาของผู้ตาม ว่าผู้นำทำอะไร  ถ้าผู้นำทำให้ดู ผู้ตามก็จะทำตามด้วย
4.       ภาวะผู้นำเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยในการจูงใจและการประสานงานขององค์การ
เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด
5.       ภาวะผู้นำเป็นผลหรือสิ่งที่งอกเงยตามมา ที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ของบุคคลต่าง ๆ ในกลุ่ม
เป็นหลัก
6.        ภาวะผู้นำเป็นบทบาทที่เกิดขึ้นจาการบูรณาการบทบาทของบุคคลอื่น  เพื่อสร้างความ
เจริญก้าวหน้าแก่ระบบสังคม    เพราะผู้นำแต่ละองค์กร หรือหน่วยงาน  ต่างก็มีหน้าที่ มีบทบาทที่แตกต่างกัน  แต่ทุกหน้าที่ต่างก็ช่วยกันพัฒนาความเจริญให้กับสังคม ซึ่งต้องอาศัยการมีภาวะผู้นำทั้งนั้น
7.       ภาวะผู้นำในฐานะที่มุ่งด้านโครงสร้าง  เป็นกระบวนการในการริเริ่มและดำรงรักษา
โครงสร้างของบทบาทและรูปแบบความสัมพันธ์ของบทบาทต่าง ๆ มีการระบุหน้าที่ของภาวะผู้นำในการทำให้ระบบการตัดสินใจต่าง ๆที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลตามโครงสร้างการบริหารจัดการขององค์การ
                จากข้อสรุปดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาวะผู้นำที่มีในองค์การ  ที่มีทั้งในผู้นำและผู้ตามขององค์กรนั้น สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จทั้งในองค์กรของตนเองและองค์กรอื่น จนขยายสู่องค์การระดับประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการมีภาวะผู้นำทั้งสิ้น
องค์ประกอบของภาวะผู้นำทางการบริหารการศึกษา
การบริหารจัดการศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลตรงตามมาตรฐานการศึกษาได้นั้น  ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ดังนี้
1.  ผู้นำ หมายถึง ผู้ซึ่งมีอำนาจบางอย่างเหนือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา  คนที่เป็นผู้นำมีชื่อเรียกต่างๆ เช่น  กษัตริย์  ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี  ประธาน  ผู้บังคับบัญชา  เจ้านาย  เป็นต้น   ผู้นำบางคนมีบทบาทที่จะบริหารองค์กรแต่บางคนอาจเป็นเพียงสัญลักษณ์ขององค์กรเท่านั้น  สำหรับผู้นำทางการบริหารการศึกษาอาจหมายถึง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่  ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการโรงเรียน วิทยาลัย สถาบัน  อธิการบดี หัวหน้ากลุ่มสาระ หัวหน้างาน เป็นต้น   ซึ่งบุคคลที่เป็นผู้นำดังที่กล่าวมานอกจากจะได้มีอำนาจตามกฎหมายแล้วยังต้องอาศัยอำนาจบารมี อำนาจเชี่ยวชาญ อำนาจอ้างอิง   จึงจะสามารถบริหารจัดการในหน้าที่ของตนเอง ตามบทบาทเฉพาะที่กำหนดไว้ในแต่ละหน้าที่โดยใช้ความสามารถทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่จะจูงใจคนในหน่วยงานให้กระทำตามที่ตนต้องการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรซึ่งต้องอาศัยการมีภาวะผู้นำในทุก ๆส่วน
2.  ผู้ตาม หมายถึง ผู้ที่อยู่ในหน่วยงานที่มีบทบาทเป็นลูกน้อง  หรือผู้ใต้บังคับบัญชา  มีหน้าที่กระทำตามคำสั่ง หรือการมอบหมายงานจากผู้นำ  ซึ่งผู้ตามมีอยู่  4  ประเภทคือ
R1   ไม่มีความสามารถและไม่มีความเต็มใจหรือไม่มั่นใจ
R2   ไม่มีความสามารถแต่มีความเต็มใจหรือมีความมั่นใจ
R3    มีความสามารถแต่ไม่มีความมั่นใจหรือไม่มั่นใจ
R4    มีความสามารถและมีความเต็มใจหรือมีความมั่นใจ
ตามทฤษฎีภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์ของ Paul Hersey and Ken Blanchard  มีหลักการว่า
ผู้บริหารจะใช้รูปแบบการบริหารงานอย่างไรขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ระดับความพร้อม (Readiness) ของผู้ใต้บังคับบัญชา  ซึ่งหมายถึง ความสามารถ (Ability) ทักษะความรู้และประสบการณ์และความเต็มใจ(Willingness)  ผู้นำจึงต้องสามารถวิเคราะห์ผู้ตาม  วิเคราะห์งาน แล้วจัดวางตัวบุคคลให้เหมาะสมกับงาน และจัดงานให้เหมาะสมกับคน (Put the light man in the light job)         สำหรับผู้ตามในวงการศึกษาก็คือครู  บุคลาการทางการศึกษา  ผู้ปกครอง ชุมชน นักเรียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ที่ผู้ตามจำเป็นต้องอาศัยผู้นำที่จะกำหนดบทบาท อำนาจ หน้าที่ ภารกิจ พร้อมทั้งการมอบหมาย การติดตาม การแนะนำ การควบคุม ให้ภารงานนั้น ๆสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์  ซึ่งผู้ตามก็ต้องมีภาวะผู้นำในการบริหารจัดการตามที่ได้รับคำสั่งหรือมอบหมายงานจากผู้บังคับบัญชา
3.  สถานการณ์ หมายถึง เหตุการณ์ เวลา ช่วงเวลา กำหนดการ สถานที่ โอกาส  สภาวะของการทำงานนั้น ๆ เช่น ก่อนเปิดภาคเรียนจะมีการประชุมครู อบรม และชี้แจงการปฏิบัติงาน  ก่อนจัดโครงการใด ๆ  ก็จะมีคำสั่งในคำสั่งจะกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการอย่างชัดเจน และทำความเข้าใจก่อนปฏิบัติงานจริง    ดังนั้นผู้บริหารจะบริหารงานใด ๆ  ต้องคำนึงถึงเหตุการณ์ สถานการณ์ ให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ 
จากองค์ประกอบดังกล่าวมาการบริหารจัดการทางการศึกษาล้วนต้องอาศัยภาวะผู้นำทั้งผู้นำและผู้ตามที่สอดคล้องกับสถานการณ์นั้นได้อย่างเหมาะสม  กลมกลืน เกิดความพึงพอใจต่อผู้นำและผู้ตามและบรรลุเป้าหมายความสำเร็จของงาน 
วิธีการพัฒนาภาวะผู้นำ
                ภาวะผู้นำกับการบริหารการศึกษามีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง  เพราะในการบริหารการศึกษานั้นผู้บริหารจะพบกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมายที่ยากต่อการแก้ไข  บางปัญหาขาดความชัดเจนหรือไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการศึกษา  ดังนั้นหน้าที่ของผู้บริหารการศึกษาจึงต้องแสวงหาความรู้ ทักษะ และเทคนิควิธีการนำมาแก้ไข พัฒนาการศึกษาให้ไปสู่ความสำเร็จ  ผู้บริหารจึงต้องได้รับการพัฒนาอยู่เสมอ  จากงานวิจัยของกัลยรัตน์  เมืองสง (2550)  ได้สรุปวิธีพัฒนาความเป็นผู้นำของผู้บริหารไว้โดยสรุป  24  วิธี  ดังนี้
1.       การสัมมนา  หมายถึง การให้สมาชิกช่วยกันระดมความคิดเห็นเพื่อแก้ปัญหา หรือเสนอแนว
ทางการดำเนินงานในขอบข่ายเนื้อหาสาระที่กำหนด
2.       การประชุมทางวิชาการ หมายถึง การประชุมที่มีวัตถุประสงค์มุ่งให้สมาชิกมีการแลกเปลี่ยน
ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยเน้นบรรยากาศที่เป็นกันเอง สมาชิกมีความรู้ ความสนใจ หรือประสบการณ์พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องที่จะประชุมพอสมควร
3.       การประชุมเชิงปฏิบัติการ หมายถึง การประชุมเพื่อถกปัญหา หรือประเด็นที่น่าสนใจเฉพาะ
เรื่องใด เรื่องหนึ่ง ที่มีการเตรียมการอย่างรอบคอบ โดยจะต้อง 1) กำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะ  2) กำหนดหัวข้อให้กระชับ รัดกุมและชัดเจน  3) จัดสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ให้มีสิ่งรบกวน  4) ผู้นำการประชุมต้องควบคุมการประชุมให้ราบรื่น ไม่มีการแสดงความคิดเห็นที่มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น 5) จดบันทึกผลการประชุมให้ครบถ้วน  6) สรุปผลการประชุมตามหัวข้อการประชุม
4.       การระดมความคิด หมายถึง การคิดอย่างสร้างสรรค์ต่อปัญหาใด ๆ อย่างเสรีหลากหลาย ไม่
วิจารณ์ความคิดของผู้อื่น ระดมให้คิดให้มากที่สุด แล้วนำไปสู่การประเมินของกลุ่มใหญ่เพื่อหาแนวคิดที่เหมาะสมและเป็นไปได้
5.       การศึกษาดูงาน หมายถึง การนำผู้เรียนไปเรียนรู้นอกสถานที่เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับงาน เพื่อให้
ทราบว่าสภาพการทำงานจริงมีลักษณะอย่างไร  ให้ผู้เรียนมีโอกาสเผชิญกับบุคคล สถานที่และสิ่งของต่างๆ ด้วยตนเอง  การศึกษาดูงาน ประกอบด้วยการดู การฟัง การสัมภาษณ์ การสนทนา การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการมีส่วนร่วม
6.       การอภิปรายเป็นคณะ หมายถึง การอภิปรายร่วมกันโดยกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิประมาณ 3 – 5 คน
มีพิธีกรดำเนินการอภิปราย
7.       การบรรยายเป็นคณะ หมายถึง การที่ผู้พูดหรือวิทยากรได้รับมอบหมายให้พูดบรรยายเรื่องใด
เรื่องหนึ่งตามลำพัง  บรรยายแล้วเสร็จจะกลับหรืออยู่ต่อก็ได้ ไม่มีการให้อภิปรายหัวข้อของคนอื่น ๆ เหมือนการอภิปรายเป็นคณะ
8.       การฝึกงาน หมายถึง การฝึกปฏิบัติงานตามสถาบันหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้จากการ
ทำงานจริงภายใต้การแนะนำของผู้ร่วมงานในองค์การ
9.       การสอนงาน หมายถึง การแนะนำให้ปฏิบัติงานให้ถูกต้อง โดยปกติจะเป็นการสอนระหว่าง
การปฏิบัติงาน อาจสอนเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งผู้สอนต้องมีความรู้ ประสบการณ์และทักษะในเรื่องนั้นอย่างแท้จริง
10.    การหมุนเวียนสับเปลี่ยนงาน หมายถึง การพัฒนาบุคคลที่ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน คือ 1) การ
วางแผน  2) การพิจารณาผู้หมุนเวียนงาน  3) การพิจารณาตำแหน่งงาน  4) การสอบถามความสมัครใจ  5) การดำเนินการหมุนเวียนงาน  6) การประเมินและติดตามผล
11.     การเรียนรู้ทางไกล หมายถึง ระบบการพัฒนาบุคคลที่ออกแบบให้สามารถถ่ายทอดเนื้อหา
สาระ ทักษะ เจตคติ โดยใช้ระบบสื่อประสม ซึ่งประกอบด้วย 1) สื่อวัสดุ  2) อุปกรณ์  3) วิธีการ  4) สื่อบุคคล  ในลักษณะต่างๆ โดยให้ผู้เรียนกับวิทยากรมีการเผชิญหน้ากันน้อยที่สุด  ในการสอนทางไกล อาจใช้บทเรียนสำเร็จรูปสั้น ๆ ที่สามารถทำความเข้าใจด้วยตนเอง โดยผู้เรียนศึกษาและหาข้อมูลต่าง ๆ ประกอบตามที่กำหนดในบทเรียน
12.    การแสดงบทบาทสมมติ หมายถึง การทดลองสวมบทบาทที่สมมติขึ้นมา  โดยเปิดโอกาสให้
ผู้แสดงได้พูดก่อน แล้วนำไปเป็นประเด็นเพื่อวิเคราะห์ปัญหา แล้วให้ผู้แสดงและกลุ่มชี้ประเด็นว่าได้เรียนรู้อะไรจากพฤติกรรมของตัวละคร เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
13.    การใช้บทเรียนแบบโปรแกรม หมายถึง การเรียนรู้ด้วยตนเองรูปแบบหนึ่งที่ผู้เรียนสามารถ
เรียนรู้ได้ตามลำดับขั้นตอนความสามารถของตนเอง และแก้ไขปฏิกิริยาการตอบสนองด้วยตนเอง ผู้เรียนจะเป็นผู้ปฏิบัติกิจกรรมที่ออกแบบไว้ ทำแบบฝึกหัดและได้ผลย้อนกลับเป็นการเสริมแรง
14.    เกมการบริหาร หมายถึง การจำนองสถานการณ์จริงขึ้นมาเพื่อให้ผู้เรียนได้ทดลองเผชิญ
เหตุการณ์  ผู้เรียนจะมีโอกาสฝึกวินิจฉัย และคัดเลือกแนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสม
15.    กรณีศึกษา หมายถึง การให้รายละเอียดของสถานการณ์ข้อเท็จจริง เพื่อเป็นหลักฐานในการ
อภิปรายและแก้ปัญหา เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทดสอบแนวคิดของตนเองกับแนวคิดของผู้อื่น  ทั้งนี้ต้องสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้าง มีอิสระและเป็นกันเอง ในขั้นการวิเคราะห์  กรณีต้องพิจารณาที่บุคคล สถานการณ์ วิธีการ ขั้นตอน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ว่าสิ่งใดที่กระทบต่อองค์การจะแก้ไขหรือพัฒนาอย่างไร
16.    การใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง การเรียนรู้ด้วยตนเองรูปแบบหนึ่งที่อาศัย
บทเรียนที่ถูกออกแบบมาให้ผู้เรียนเรียนจากคอมพิวเตอร์  โดยมีเนื้อหาสาระตามที่ผู้ออกแบบกำหนด  ผู้เรียนสามารถทำการโต้ตอบกับเครื่อง  ทราบผลการปฏิบัติและได้รับการเสริมแรง การเรียนรู้จะเร็วหรือช้าอยู่กับความสามารถของผู้เรียน
17.    การเรียนรู้แบบออนไลน์ หมายถึง การเรียนรู้ที่อาศัยคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย
โทรคมนาคม  โดยผู้เรียนจากคอมพิวเตอร์ลูกข่ายที่เชื่อมกับระบบเครือข่าย  สามารถโต้ตอบกับแม่ข่ายซึ่งอยู่ไกลออกไปได้ทันทีหรือเกือบจะทันที
18.    การฝึกประสาทสัมผัส หมายถึง การฝึกให้ผู้เรียนระมัดระวังผลของพฤติกรรมและทัศนคติ
ของตนที่มีต่อผู้อื่น  ช่วยให้เข้าใจตนเองและผู้ร่วมงานและสร้างความสัมพันธ์เชิงบวก  เน้นการแก้ปัญหาโดยการทดลอง  โดยให้ผู้เรียนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มีการแสดงพฤติกรรมอันเนื่องมาจากประสบการณ์ของตนเพื่อทดสอบความมีมนุษย์ของตนกับผู้อื่น  ผู้เรียนจะคิดค้นหาคำตอบและประเมินผลย้อนกลับที่เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบจากผู้อื่นและสรุปสิ่งที่ตนเรียนรู้จากการทำปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่ม
19.    กิจกรรมพัฒนาจิต หมายถึง การฝึกปฏิบัติกิจกรรมที่มุ่งเสริมสร้างความมั่นคงทางอารมณ์
และความพลังของจิตใจ  ให้มีความสงบเยือกเย็น เช่นการฝึกสมาธิเพื่อให้จิตใจเหมาะแก่การใช้สติปัญญาในการวิเคราะห์สภาพการและปัญหาในการทำงานและการดำเนินชีวิต
20.    กิจกรรมนันทนาการ หมายถึง การร่วมกันทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น
การร้องเพลง การปรบมือเป็นจังหวะพร้อมกัน การร้องเพลงประกอบท่าทาง การเล่นเกมสั้นๆ เป็นต้น โดยเน้นการทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม  เพื่อมุ่งเปลี่ยนทัศนคติและสร้างความสัมพันธ์   ตลอดจนสร้างความสนุกสนานให้กับผู้เรียน
21.    กลุ่มทำงาน หมายถึง การฝึกการทำงานร่วมกัน โดยฝึกภาวะความเป็นผู้นำ ผู้ตาม การร่วมกัน
ในการวางแผน การคิด และเป็นการฝึกการตัดสินใจร่วมกันในระดับกลุ่ม
22.    การสนทนาวงกลม หมายถึง การจัดให้ผู้เข้าร่วมสนทนานั่งเป็นวงกลมเพื่อแสดงทัศนะ
ความรู้สึก ความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยวิทยากรเปิดประเด็นก่อน แล้วกระตุ้นให้แต่ละคนมีส่วนร่วมในการสนทนา
23.    เทคนิค เอไอซี หมายถึง การทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน  3  ขั้นตอนคือ 1) ขั้นกำหนดความ
ต้องการ  2) ขั้นอภิปรายและแสดงความคิดเห็น  3) ขั้นแก้ปัญหาหรือควบคุมกระบวนการให้บรรลุเป้าหมาย
24.    เกมการศึกษา หมายถึง กิจกรรมกลุ่มที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในบรรยากาศที่ตื่นเต้น
สนุกสนาน ไม่เบื่อ เพื่อช่วยพัฒนาทักษะในการทำงานเป็นทีม ทักษะในการเป็นผู้นำ ผู้ตัดสินใจ พัฒนาไหวพริบ ความคล่องตัวและประสาทสัมผัสต่างๆ
                จากวิธีการพัฒนาภาวะผู้นำที่กล่าวมาทั้งหมด  สามารถเลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่ง หรือหลาย ๆวิธีนำมาใช้พัฒนาให้เกิดภาวะผู้นำตามความเหมาะ แล้วแต่สถานการณ์  โอกาส  งบประมาณ และเวลาสำหรับผู้นำ ผู้ตาม ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ อันนำไปสู่ความสามารถ ศักยภาพในการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพต่อไป
แนวทางการนำภาวะผู้นำทางการศึกษาไปใช้ประโยชน์
                ในทุกวงการทั้งเล็กใหญ่ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน  ต่างมีความต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการให้องค์กรนั้น  บริหารงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ทั้งสิ้น  สิ่งที่ทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นได้คือ การมีภาวะผู้นำของผู้บริหารในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล   การจัดการศึกษาก็เช่นเดียวกันต้องการผู้นำที่มีความรู้ ความสามารถ มีเทคนิควิธีการที่จะจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายของชาติ ของหลักสูตร ชุมชนและสังคม   ดังนั้นการนำภาวะผู้นำมาใช้ในการศึกษาได้อย่างไรนั้น  ผู้เขียนจึงขอสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้
1.       การนำภาวะผู้นำมาใช้สำหรับผู้บริหาร   ทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่  ผู้อำนวยการ
โรงเรียน หรือรองผู้อำนวยการ  อธิการบดี  รองอธิการบดี หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาทุกระดับ   ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา  มัธยมศึกษา  อาชีวศึกษา หรืออุดมศึกษา  ล้วนเป็นผู้ที่มีภาระหน้าที่ในการจัดการศึกษา ทั้งสิ้น  การจะบริหารการศึกษาทุกระดับให้สำเร็จได้นั้น  ผู้บริหารต้องมีภาวะผู้นำ ตามทฤษฎีภาวะผู้นำด้านคุณลักษณะ  ด้านพฤติกรรม  และทฤษฎีผสมผสานในรูปแบบที่ทันสมัยเหมาะสมกับเหตุการณ์  สถานการณ์ รูปแบบสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบัน  ผู้ที่เป็นผู้บริหารหรือเตรียมตัวเป็นผู้บริหารจะได้เตรียมฝึกตนเองตามหลักการ ทฤษฎีของภาวะผู้นำ  ซึ่งถ้าผู้บริหารรู้จักบริหารงานโดยใช้ทฤษฎีภาวะผู้นำ ผนวกกับทฤษฎีการบริหารการศึกษา  ผสมผสานกับเหตุการณ์ สถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมจนเกิดผลงานที่มีประสิทธิภาพ  แสดงว่าผู้นำมีภาวะผู้นำทางการบริหาร  ส่งผลต่อประสิทธิภาพของงาน    ดังนั้นภาวะผู้นำที่นำมาใช้กับการบริหารทางการศึกษามีประโยชน์โดยตรงต่อตัวผู้บริหารเองซึ่งจะส่งผลต่องานอย่างแน่นอนเพราะผู้บริหารมีตำแหน่งในฐานะผู้บังคับบัญชา  มีอำนาจในการควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงอยู่แล้ว
2.       การนำภาวะผู้นำมาใช้กับการบริหารงาน องค์กรใดที่มีการบริหารที่ดีจะนำความสำเร็จมาให้
ถ้าขาดการบริหารที่ดีก็จะเกิดความล้มเหลว  นอกจากภาวะผู้นำที่มีในตัวผู้บริหารเองแล้ว  การบริหารที่มีกลยุทธ์ที่ดีของผู้บริหารจะนำความสำเร็จมาให้  โดยผู้บริหารใช้หลักการบริหารงานที่ดี  มีความเหมาะสมกับบุคคล  เหตุการณ์  สถานที่   คือเทคนิคการบริหารงานที่ยึดหลักการของภาวะผู้นำนั่นเอง
                3.    การนำภาวะผู้นำมาใช้กับผู้ตามหรือผู้ใต้บังคับบัญชา  ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงาน  เมื่อได้รับคำสั่ง ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานใด ๆ    ผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะมีผู้อยู่ในวงงานที่เป็นลูกน้องตามลำดับไปเรื่อยๆ   ดังนั้นผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับจึงต้องมีภาวะผู้นำเช่นเดียวกันในการปฏิบัติงานที่ตนได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วง  เพราะความเป็นผู้นำย่อมมีอยู่ในตัวของทุกคน  ที่สามารถตัดสินใจทำงาน                                การจัดการศึกษาในปัจจุบันและอนาคตมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป  เพราะสภาพเศรษฐกิจ  การเมือง  สังคมวัฒนธรรมเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลง  ด้วยสาเหตุของการเพิ่มจำนวนของประชากร  การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ   การแข่งขันด้านการค้าของประเทศมหาอำนาจ ฯลฯ     ความสามารถของผู้บริหารประเทศเท่านั้นที่จะนำประเทศของตนให้ก้าวพ้นจากความขาดแคลน   การต่อสู้กับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง   เป็นหน้าที่ของผู้นำประเทศที่จะเพิ่มศักยภาพของประชากรให้มีความสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่รอดให้ได้    ท่ามกลางกระแสการเมือง  การเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่อาจสกัดกั้นไว้ได้    ผู้ที่แข็งแรงกว่าย่อมได้เปรียบผู้ที่อ่อนแอ   ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารระดับประเทศและกลุ่มประเทศในเอเชียที่ต้องร่วมมือกันในการช่วยเหลือกันทางด้านการค้า  การศึกษา การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เป็นต้น   เรื่องที่ผู้บริหารประเทศต้องเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุด ก็คือ  การศึกษา 
                แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่  10   เน้นที่การพัฒนาศักยภาพของคน  จากแผนฉบับก่อนๆ   ที่มุ่งเน้นด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจ    แต่ไปไม่รอดเพราะขาดการพัฒนาศักยภาพของคนเพราะคนเป็นผู้บริหารจัดการค้า     จากรายงานเรื่อง ความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ          พ.ศ.  2541 ของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการ  ซึ่งเปรียบเทียบขีดความสามารถของประเทศไทยกับประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรม รวม  46  ประเทศ  พบว่า  ขีดความสามารถของประเทศไทย ปี 2541  อยู่ในอันดับที่  39  ลดลงจากปี  2540  ซึ่งอยู่ในอันดับที่  29  และในด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่  44   แม้ว่าประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากถึงร้อยละ 4.4  สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด  (สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา.  2548)  ประกอบกับผลการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติในปี 2550   พบว่า ผู้เรียนในระดับปฐมวัย  ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ เพียงร้อยละ 11.1 , 10.4   มีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร ร้อยละ 18.2 , 11.4   มีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้ร้อยละ 28.1 , 24.0  ตามลำดับ    ระดับอาชีวศึกษาการผลิตกำลังแรงงานไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี      ผู้สำเร็จการศึกษาขาดทักษะความรู้พื้นฐานที่จำเป็นตลอดทั้งปัญหาการทะเลาะวิวาท  และอัตราการศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาลดลง    ส่วนระดับอุดมศึกษา คุณภาพโดยรวมไม่เป็นที่น่าพอใจ ทั้งเรื่องการจัดการเรียนการสอน  การวิจัย  เมื่อเปรียบเทียบระดับนานาชาติ การผลิตกำลังแรงงานระดับอุดมศึกษาไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในสถานประกอบการ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.  2552)         
                จากสาระที่กล่าวมาทั้งหมด สรุปได้ว่า สังคมโลก สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน จำเป็นที่ผู้นำ ผู้บริหารทุกองค์การต้องปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการองค์กร เพื่อให้องค์กรนั้นอยู่รอด ประเทศไทยจึงเป็นประเทศหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงเรียกว่า ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเมือง  เป็นต้น  ในวงการศึกษาก็ปรับกลยุทธ์การทำงานเสียใหม่ เช่นปฏิรูประเบียบราชการ ปฏิรูปบุคคลและบุคลากร ปฏิรูปการเรียนรู้  การปฏิรูปการศึกษานั้นได้ดำเนินการมาครบรอบ  9  ปี  แต่ผลการประเมินคุณภาพผู้เรียนออกมายังไม่เป็นที่น่าพอใจ  ในทางตรงกันข้ามคุณภาพผู้เรียนมีแนวโน้มลดลงในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น  ตัวบ่งชี้ของความไม่สำเร็จ (หลีกเลี่ยงใช้คำว่าล้มเหลว) อย่างที่ควรจะเป็น  เป็นเครื่องบ่งบอกถึงภาระของผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาในรอบที่สอง ( พ.ศ. 2552 – 2561) หรือในทศวรรษหน้า ว่าต้องร่วมมือกันในการบริหารจัดการศึกษาในรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  ผู้ที่เป็นบุคคลสำคัญในการจัดการคือ  ผู้บริหารการศึกษา ที่มิใช่เพียงอยู่ในตำแหน่ง หรือได้รับมอบหมาย  แต่ผู้บริหารยุคใหม่ ต้องเป็นผู้บริหารมืออาชีพ  ที่มีภาวะของความเป็นผู้นำสูง ประกอบด้วยการเป็นผู้นำทั้งจิตและวิญญาณ จึงจะนำพาองค์กรฝ่าฝันกับวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ในขณะนี้
                เมื่อครั้งอายุราชการยังน้อยนิด  ผู้เขียนเคยคิดอยากเป็นผู้บริหารเพราะไม่พึงพอใจในพฤติกรรมของผู้บริหารโรงเรียนในขณะนั้น  ที่ขาดวิสัยทัศน์ในการทำงาน  ยังมีเรื่องราวอีกตั้งมากมายที่โรงเรียนจะจัดให้แก่ผู้เรียน  แต่การทำงานของผู้บริหารยังทำงานไปเพียงวันๆ   ประกอบกับเพื่อน ๆ มักพูดเสมอว่าจะเป็นผู้บริหารต้องมีเงิน  ถ้าไม่มีเงินจะลำบาก  ความคิดที่จะเป็นผู้บริหารของข้าพเจ้าจึงสะดุดลงนับตั้งแต่นั้นมา  แต่เมื่อข้าพเจ้าได้เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหาร และภาวะผู้นำของผู้บริหาร  พบว่าไม่มีคุณลักษณะข้อใดของผู้บริหารที่บ่งบอกว่าจะต้องมีเงิน  ความคิดอยากจะเป็นผู้บริหารก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง  เพราะรู้สึกเสียดายที่อยากจะทำในอีกหลายๆ สิ่ง  แต่ไม่สามารถที่จะทำได้ ด้วยบทบาทหน้าที่ไม่ใช่ผู้บริหาร  ความรู้สึกเช่นนี้ ความคิดแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นกับบุคลากรอีกหลายคน  หากเขาเหล่านั้นได้มาพบกันและร่วมมือกันในการบริหารงาน ก็เชื่อว่าประเทศไทยจะได้ผู้นำที่มีภาวะผู้นำที่มีทั้งจิตและวิญญาณมาพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้า   แต่ขณะนี้ยังไม่มีบทบาทเป็นผู้บริหารก็ต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ หล่อหลอมคุณลักษณะเพื่อเตรียมตัวที่จะเป็นผู้บริหารที่ดีต่อไป หากมีโอกาส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น